แนวคิด และทฤษฎี
ระยะที่หนึ่ง ราวในช่วงปี ค.ศ. 1920-1960 นับตั้งแต่มีการก่อตัวของแนวคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่าง ๆ เช่น การควบคุมคุณภาพเชิงสถิติ การศึกษาของ Hawthorne การเพิ่มคุณค่าของงาน การออกแบบงานใหม่ การบริหารโดยให้พนักงานมีส่วนร่วม ทฤษฎีความต้องการของ Maslow ทฤษฎี XY ของ Douglas Mc Gregor เป็นต้น แนวคิดและทฤษฎีเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นรากฐานของแนวคิดด้านคุณภาพในเวลาต่อมา เมื่อประเทศญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร จำเป็นต้องนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมากซึ่งต้องอาศัยเงินตราต่างประเทศ ขณะนั้นญี่ปุ่นไม่สามารถเปิดตลาดขายสินค้าให้บรรดาประเทศในเอเชียอย่างจีนหรือเกาหลี เนื่องจากกำลังทหารของตนได้เข้าไปกระทำทารุณกรรมต่อประเทศเหล่านั้น อย่างสาหัสสากรรจ์ในช่วงสงครามในเวลานั้นสินค้าใดที่ประทับตราว่า Made in Japan ถือว่าเป็นสินค้าคุณภาพเลว ญี่ปุ่นรู้ดีว่าตนจะต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์หันมาผลิตและส่งออกสินค้าคุณภาพในปริมาณมาก เพื่อเอาเงินตราต่างประเทศมาจัดหาอาหาร
“คุณภาพ” ในการผลิตกลายเป็นลำดับความสำคัญอันดับต้นของประเทศ ขณะนั้นสหรัฐอเมริกากำลังยึดครองญี่ปุ่น The General Headquarters (GHQ) ของสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำเทคนิควิธีการควบคุมคุณภาพเชิงสถิติ (Statistic Quality Control) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำการควบคุมคุณภาพมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นอย่างไรก็ตาม เทคนิคดังกล่าวมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถ“สร้างคุณภาพเข้าไปในกระบวนการ” ถ้าหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าก็จะไม่มีคุณภาพอยู่นั่นเอง คำถามต่อไปคือว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การให้พนักงานระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมการมาเยือนของ Edwards Deming และ Joseph M. Juran จากสหรัฐอเมริกา ช่วยตอบคำถามนั้น ทั้งสองได้ถ่ายทอดแนวคิดการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ให้แก่บรรดา CEO ของญี่ปุ่น การควบคุมคุณภาพกลายเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการที่สำคัญจนกระทั่งมีคำว่า Total Quality Control เกิดขึ้นเมื่อ Armand Feigenbaum นำเสนอว่าการควบคุมคุณภาพจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและได้รับความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่ายในบริษัท ในที่สุดแนวคิดด้านการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กรที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากสหรัฐอเมริกาก็เริ่มหยั่งรากมั่นคงในประเทศญี่ปุ่น
ระยะที่สอง คือ ช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 1960-1980 ประเทศญี่ปุ่นเปล่งอานุภาพของแนวคิดด้านการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กรให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ญี่ปุ่นไม่ได้ขอยืมแนวคิดของฝรั่งมาใช้อย่างเดียว แต่ยังคิดค้นต่อยอดขึ้นไปโดยพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอย่างเช่น Quality Function Deployment กลุ่มคุณภาพและระบบ Just in Time เป็นต้น TQC ได้รับการนำไปปฏิบัติมากในการผลิต แล้วแพร่ขยายไปยังธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจบริการ Juran เล่าว่าเขาเคยเตือนผู้บริหารของสหรัฐอเมริกาว่าญี่ปุ่นกำลังจะเป็นคู่แข่งด้านคุณภาพที่ร้ายกาจ แต่ไม่มีใครเชื่อจนกระทั่งสินค้าของญี่ปุ่นเข้าไปแผลงฤทธิ์แย่งส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและคุณภาพที่เหนือกว่า เมื่อนั้นแหละ CEO อเมริกันจึงเริ่มหันมาฟังเขา
ระยะที่สาม คือ ช่วงปี ค.ศ. 1980 - 1995 สหรัฐอเมริกาศึกษาความสำเร็จของญี่ปุ่น และนำไปใช้บ้าง
สหรัฐอเมริกาในกลางทศวรรษ 1980 เกิดความตื่นตัวต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นองค์กรธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเริ่มมุ่งมั่นกับการจัดการคุณภาพ กล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกาเรียนรู้ความสำเร็จของญี่ปุ่น แล้วเรียกแนวทางการจัดการคุณภาพสไตล์ญี่ปุ่นว่า Total Quality Management จุดสำคัญของเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็คือ กำเนิดของ Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ในปี ค.ศ. 1987 จากนั้นกระแสการจัดการคุณภาพก็แพร่กระจายไปที่สหราชอาณาจักรและทั่วยุโรปตะวันตก
เป้าหมายของ MBNQA
รางวัล MBNQA นี้จะช่วยให้มีการปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตโดย
1. ช่วยกระตุ้นบริษัทอเมริกันให้ปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตเพื่อความภาคภูมิใจที่สามารถก้าวมาข้างหน้าได้และได้กำไรเพิ่มขึ้น
2. เป็นการรับรู้วามสำเร็จของบริษัทที่สามารถปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตและบริการ และเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่น
3. วางแนวทางและหลักเกณฑ์ซึ่งสามารถใช้ได้กับธุรกิจ อุตสาหกรรม รัฐบาลและองค์กรอื่น ๆ ในการประเมินความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพของตน
4. ให้แนวทางที่ชัดเจนสำหรับองค์กรอเมริกันอื่น ๆ ซึ่งต้องการเรียนรู้วิธีการบริหารไปสู่คุณภาพ โดยการเผยแพร่ข้อมูลโดยละเอียดว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและบรรลุ eminence ได้อย่างไร
แนวทางการบรรลุเป้าหมาย MBNQA
เกณฑ์ของการให้รางวัลมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่สภากำหนดไว้ ขณะนี้ได้มีการรับเกณฑ์นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในฐานะเป็นมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศ เกณฑ์ถูกออกแบบเพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งไปที่เป้าหมายหลัก 2 ประการคือ การให้สินค้าที่มีคุณค่าสูงขึ้นแก่ลูกค้าและการยกระดับสมรรถนะโดยรวมของบริษัท โปรแกรมนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความสำเร็จของการทำงานเป็นทีมระหว่างรัฐบาลกับวงการอุตสาหกรรม รัฐบาลได้ลงทุนในปีแรกประมาณ 3 ล้านเหรียญและได้รับเงินจากภาคเอกชนอีกมากกว่า 100 ล้านเหรียญ เงินอีกมากกว่า 10 ล้านเหรียญสำหรับการเผยแพร่โปรแกรม รวมทั้งเวลาและการทุ่มเทของอาสาสมัครจากธุรกิจเอกชนอีกนับร้อย ธรรมชาติของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนนี้เห็นได้ชัดเจนที่คณะกรรมการตรวจสอบ แต่ละปีจะมีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 300 คนจากวงการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย รัฐบาลทุกระดับ องค์กรเอกชนไม่ค้ากำไรเป็นอาสาสมัครมาทบทวนแบบสมัครเข้ารับรางวัลไปตรวจเยี่ยมสถานที่และให้ข้อคิดเห็นสะท้อนกลับอย่างละเอียด ซึ่งระบุจุดแข็งและโอกาสที่สามารถปรับปรุงได้ นอกจากนั้นสมาชิกของคณะกรรมการยังนำเสนอเรื่องการบริหารคุณภาพ การปรับปรุงสมรรถนะและรางวัลนับเป็นพัน ๆ ครั้ง บริษัทที่ได้รับรางวัล 28 แห่ง มีหน้าที่เป็น quality advocate ความรู้และให้ข้อมูลแก่บริษัทและองค์กรอื่น ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้จากการใช้กรอบและเกณฑ์ของ MBNQA เกินกว่าที่คาดไว้ ถึงวันนี้ผู้ได้รับรางวัลได้นำเสนอความรู้ประมาณ 30,000 ครั้งไปยังองค์กรนับพัน ๆ
ประโยชน์ต่อส่วนราชการ
ส่วนราชการที่นำเกณฑ์คุณภาพการบิหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินระดับมาตรฐานสากลไปเปรียบเทียบกับระบบการบริหารจัดการของส่วนราชการ จะได้รับประโยชน์ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การตรวจประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Self-Assessment) ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารของส่วนราชการนั้น ๆ ได้รับทราบว่าส่วนราชการของตนยังมีความบกพร่องในเรื่องใด จึงสามารถกำหนดวิธีการปละเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไป ส่วนราชการสามารถนำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการการ ดำเนินการของส่วนราชการ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการส่วนราชการ เพื่อให้สามารถส่งมอบคุณค่าที่ดีขึ้น ทั้ง ผลผลิตและบริการให้แก่ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งนับเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ด้วย
ส่วนราชการที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศจะมีภาพลักษณ์ที่ดี ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังมีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของส่วนราชการอื่น ๆ โดยการนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จและเปิดโอกาสให้มีการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของส่วนราชการ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ส่วนราชการอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้ประสบผลสำเร็จ เช่น เดียวกัน
ส่วนราชการที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศจะมีภาพลักษณ์ที่ดี ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังมีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของส่วนราชการอื่น ๆ โดยการนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จและเปิดโอกาสให้มีการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของส่วนราชการ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ส่วนราชการอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้ประสบผลสำเร็จ เช่น เดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น