เป็นที่ทราบว่า รางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The Malcolm Baldrige National Quality Award – MBNQA) คือ รางวัลต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand Quality Award-TQA) และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ฉะนั้นเมื่อผู้บริหารระดับสูงของรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ยิ่งเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิเพื่อสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา คือ “มร.โทมัส อี. แชมเบอร์เจอร์” มีโอกาสเดินทางมาเมืองไทยเมื่อไม่นานที่ผ่านมาทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จึงมีโอกาสร่วมสัมภาษณ์พิเศษทั้งในเรื่องของความสำเร็จของรางวัลต้นแบบ MBNQA บทบาทของมูลนิธิเพื่อสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ รวมถึงความท้าทายต่อการนำรางวัล MBNQA ไปปรับใช้กับการบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จึงล้วนต่างมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้น “มร.โทมัส อี. แชมเบอร์เจอร์” บอกว่า ความสำเร็จของรางวัล MBNQA อาจเริ่มต้นจากวิธีคิดกว่าหลายสิบปีผ่านมาที่มองเห็นว่าเกณฑ์ของรางวัล MBNQA ทั้ง 7 หมวดมีความสำคัญยิ่งทั้งต่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากร “แต่กระนั้นก็ใช่ว่าเกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติจะเป็นตัวบอกว่าองค์กรจะต้องทำอะไร แต่จะต้องบอกว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้องมี เหมือนอย่างเรื่อง road map ที่มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเมื่อองค์กรหนึ่งองค์กรใดประสบความสำเร็จแล้วดีที่สุด แต่จะต้องพัฒนาไปอีกเรื่อย ๆ” “เหมือนอย่างหลายองค์กรในสหรัฐอเมริกาหรืออย่างในประเทศไทย ศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ที่จะต้องมุ่งไปสู่ความเป็นองค์กรคุณภาพ” นอกจากนั้น “มร.โทมัส อี. แชมเบอร์เจอร์” ยังเล่าให้ฟังถึงบทบาทของมูลนิธิเพื่อสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาให้ฟังว่า นอกจากเราจะต้องหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการรางวัล MBNQA ยังจะต้องดูแลและตรวจสอบการนำเงินที่ได้รับบริจาคไปลงทุนและจะต้องพิจารณาและทบทวนผลงาน หรือผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการรางวัล ทั้งยังจะต้องจัดสรรเงินทุนตามที่สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติร้องขอ รวมถึงยังจะต้องพิจารณาและทบทวนแผนการดำเนินงานและอนุมัติเงินทุนในแต่ละปี เพื่อให้การดำเนินโครงการรางวัลประสบความสำเร็จ ที่สำคัญเรื่องของการสนับสนุนเงินเดือนของพนักงาน รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน ส่วนเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ ที่นำไปใช้เกี่ยวกับการจัดการรางวัล สตาฟ การฝึกอบรม ผู้ตรวจประเมิน และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทางมูลนิธิและพันธมิตรจะเป็นผู้สนับสนุนทุกอย่าง
ถึงตรงนี้ “มร.โทมัส อี. แชมเบอร์เจอร์” จึงฉายภาพรวมขององค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบันที่ต่างมีอัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อการสมัครเข้าร่วมตรวจประเมินรางวัล MBNQA ผมมองว่าในธุรกิจสุขภาพ โรงพยาบาลและสาธารณสุขมีอัตราตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อการให้ความสำคัญต่อรางวัล MBNQA คิดเฉลี่ยเป็น 55% นอกนั้นก็มีหน่วยงานราชการทหารและ public sector ส่วนที่ลดลงคงเป็นภาคการผลิตขนาดใหญ่ เพราะเขามองเรื่องผลตอบแทนและการเล็งผลเลิศในระยะสั้น รวมถึงภาคไฟแนนซ์ด้วย เพราะธุรกิจประเภทนี้ข้อมูลต่าง ๆ ล้วนเป็นความลับขององค์กร อีกอย่างธุรกิจประเภทนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจเดียวกันได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ส่วนผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการรางวัล MBNQA นอกจากจะเป็นอาสาสมัคร มูลนิธิและผู้ตรวจประเมินองค์กรแล้วในการสนับสนุนว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาดูจาก feedback report ด้วย เพราะ feedback report สามารถช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ทราบว่าเขาพัฒนาไปในระดับไหนแล้ว ที่สำคัญผู้ตรวจประเมินของรางวัล MBNQA ต่างทำงานด้วยใจ โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเขาต้องการที่จะเห็นองค์กรต่าง ๆ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง MBNQA ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่บริษัทที่เคยได้รับรางวัล MBNQA ก็มีอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้ภาพขององค์กรมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาเติบโตหรือเกิดความยั่งยืน นอกจากผู้บริหารจะต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ยังจะต้องสร้างกระบวนการในการบริหารองค์กร ใหม่ ๆ เพราะองค์กรที่ได้รับรางวัล MBNQA ส่วนใหญ่มักจะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร การลดต้นทุนและการสร้างองค์กรให้เป็นเลิศ ฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาประเทศที่อาจนำมาเชื่อมโยงกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่าง ๆ ยิ่งเฉพาะในหมวด 5 เรื่องการมุ่งเน้นบุคลากรหรือความจำเป็นต้องรู้ทักษะในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เพื่อที่จะนำไปสู่แผนกลยุทธ์ขององค์กรที่วางไว้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ “มร.โทมัส อี. แชมเบอร์เจอร์” มองว่าหากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเกิดช่องว่างในการพัฒนาคน ควรต้องเพิ่มส่วนของการฝึกอบรมและการพัฒนาเข้าไปช่วย เพราะคุณภาพชีวิตของพนักงานและทักษะการทำงานล้วนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฉะนั้นผู้บริหารระดับสูงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจองค์กรของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก และต้องมีสายตาพิเศษที่มองเห็นว่าองค์กรของตัวเองมีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร อะไรที่ควรจะเพิ่มทักษะหรือกระบวนการ อะไรที่ควรพัฒนา เพราะในกรอบของกระบวนการในการพัฒนาองค์กรและบุคลากร รวมไปถึงกรอบของการนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด การวัด วิเคราะห์และการจัดการความรู้ รวมไปถึงการมุ่งเน้นบุคลากร การจัดกระบวนการและผลลัพธ์ล้วนเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทั้งของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั้งสิ้น สรุปว่า แม้ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาในการทำงานทั้งในส่วนของผู้ตรวจประเมิน ผู้บริหารหรือผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิ เพื่อสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาสิ่งที่เห็นชัดเจนคือ นอกจากองค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเองที่สนใจต่อเรื่องนี้แล้ว หลายประเทศในกลุ่มอียูและประเทศสิงคโปร์ต่างมีตัวเลขที่สนใจมากขึ้นต่อการพัฒนาองค์กรเพื่อต้องการความเป็นเลิศ ในปัจจุบันคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะถ้าธุรกิจ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจมีคุณภาพแล้ว จะทำให้ธุรกิจหรือองค์กรมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันในทุก ๆ ด้าน ดังนี้การควบคุมหรือพัฒนาคุณภาพขององค์กร ผลิตภัณฑ์หรือบริการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และรางวัลนี้จะช่วยกระตุ้นให้องค์กรมีการปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อทั้งองค์กรและผู้บริโภคด้วย เมื่อผู้บริโภคมีความพึงพอใจก็เกิดผลกำไรต่อองค์กรตามมา กระตุ้นให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ แสดงให้นานาชาติเห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ รางวัลนี้ยังเป็นแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจของธุรกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลและองค์กรอื่น ๆ ในการประเมินความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพของตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการควบคุมหรือปรับปรุงคุณภาพขององค์กรถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งองค์กรและต่อผู้บริโภค เพราะจำทำให้ได้มาซึ่งความสำเร็จของแต่ละฝั่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น